top of page

KODAWARI : Pursuing the Perfect Cup

ปรัชญาของการไล่ตามกาแฟที่สมบูรณ์แบบ


Coffee Experience, Service, Omotenashi, Kodawari, Japanese Style Service, IKIGAI


เรา: เพิ่งถอยเครื่องบดใหม่มา กาแฟอร่อยขึ้นเยอะเลย

เพื่อน: แพง!😵 แค่กาแฟ ทำไมต้องจริงจังขนาดนั้น(วะ)?

เรา: ... (เออ นั่นดิ ทำไมเราต้องจริงจังขนาดนั้นด้วยเนอะ😅)


บางที… กาแฟ☕️อาจจะเป็น “Kodawari” ของเราก็ได้ นั่นหมายถึงเรา “ใส่ใจ” และมีความ “มุ่งมั่น” ในเรื่องกาแฟเป็นพิเศษ หรือ... จะแปลว่า “หมกมุ่น” ก็ได้ในบางสถาณการณ์ (หรือจะเป็นทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกันก็ได้😂)


หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินคำว่า IKIGAI (生き甲斐)มาบ้าง แต่ในความเป็นจริงคนญี่ปุ่นไม่ค่อยใช้คำว่า IKIGAI กันเท่าไหร่ (ส่วนใหญ่จะเป็นต่างชาติซะมากกว่าที่เอาไปเล่นใหญ่ไฟกระพริบ😅) แต่ถ้าถามคนญี่ปุ่นว่า “อะไรเป็น Kodawari ของคุณ?” ส่วนใหญ่จะตอบกันได้😁


ในบทความนี้ ZMITH จะพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักกับคำว่า Kodawari ในภาษาญี่ปุ่นที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเหตุผลที่ประเทศญี่ปุ่นสามารถสืบสานวัฒนธรรม และศิลปวิทยาการดั้งเดิมให้ยังคงอยู่ได้นับร้อย นับพันปี และเราจะเอาหลักปรัชญานี้มาประยุกต์ใช้กับกาแฟได้ยังไง


完璧はあり得ない

ความสมบูรณ์แบบที่ไม่มีวันไปถึง


หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินประโยคแนว ๆ “ถ้าจะทำอะไร ต้องไปให้สุด” อยู่บ้าง หรือบางครั้งอาจเคยโดนแซวว่าเป็น “Perfectionist” ซึ่งในหลาย ๆ วัฒนธรรมนั้น “ความสมบูรณ์แบบ(Perfect)” เป็นเป้าหมายสูงสุดในทุก ๆ งานที่ทำ ซึ่งเราอาจคิดว่า เราทำงานให้สมบูรณ์แบบได้ ถ้าเราเก่งมากพอ... แต่สำหรับหลาย ๆ ศาสตร์ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นนั้น ความสมบูรณ์แบบ เป็นสิ่งที่(เชื่อว่า)มีอยู่จริง แต่ไม่มีวันไปถึง (ฟังดูหดหู่เนอะ...)


สำหรับ Specialty Coffee เองก็นำเอาหลักปรัชญานี้มาใช้อยู่เหมือนกัน จากที่เราจะเห็นว่า ไม่เคยมีกาแฟตัวไหนได้คะแนน 100 เต็มจากการ Cupping เพราะถึงแม้จะมีช่องให้คะแนนเต็ม 10 อยู่ แต่ Q Grader ทุกคนก็ถูกสอนว่า คะแนนสูงสุดที่ให้ได้คือ 9.75 เท่านั้น เหตุผล... เพราะไม่มีใครรู้ว่า “กาแฟที่สมบูรณ์แบบ” มันเป็นยังไง (อาจารย์บางท่านอาจให้เหตุผลว่า มันเป็นช่องว่างสำหรับการพัฒนา)


Fun Fact: กาแฟที่ได้คะแนน(อย่างเป็นทางการ)สูงที่สุดคือ Panama Elida Gesha Natural ได้คะแนน 98/100🤩


คำว่า “สมบูรณ์แบบ” ฟังเผิน ๆ ดูดีจะเป็นความดีงาม แต่จริง ๆ แล้วเป็นคำที่อันตรายมาก เพราะมันเป็นจุดสิ้นสุดของพัฒนาการ และความก้าวหน้า การบอกว่าสิ่ง ๆ นึงเพอร์เฟคแล้ว นั่นคือการใส่จุด Full Stop และลบ “ความเป็นไปได้” อื่น ๆ ออกไป


ลองคิดดูว่า ถ้าเรารักการทำกาแฟมาก ๆ และเรามีความสุขทุกครั้งที่สามารถ Brew กาแฟได้อร่อยขึ้น อาจจะเป็นเพราะได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ ได้อุปกรณ์ใหม่ หรือมีโอกาสบรีวกาแฟที่ดีมาก ๆ แล้วอยู่มาวันนึงเรารู้ว่า เราจะไม่มีวันทำให้มันดีกว่านี้ได้อีกแล้ว... คงเป็นเรื่องที่น่าเศร้า


Jiro Ono คุณปู่เชฟซูชิระดับตำนาน (อายุอีกไม่กี่ปีจะครบ 100) บอกว่า “ถ้าเปรียบศาสตร์การทำซูชิเป็นภูเขา ตัวเขาก็เพิ่งอยู่แค่เนินเขาเท่านั้นเอง” ถึงแม้ว่าจะพัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่องมา 70+ ปี ได้ยินคนสรรเสริญว่าผลงานของปู่นั้น “สมบูรณ์แบบ” มานับครั้งไม่ถ้วน แต่สำหรับคุณปู่ Jiro แล้วช่องว่างระหว่างคำว่า “ดีมาก” กับ “สมบูรณ์แบบ” จะมีอยู่ตลอดไป



Kodawari (こだわり)

ความมุ่งมั่นที่ไม่หวั่นไหว


เมื่อยังมีช่องว่างระหว่างจุดที่เราอยู่ กับความสมบูรณ์แบบ สิ่งที่จะทำได้ก็มีแต่ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ เท่านั้น ฟังแล้วน่าเหนื่อยหน่าย แต่ในความเป็นจริงคือ การมุ่งมั่นที่จะพัฒนาไปเรื่อย ๆ นั้นนำมาซึ่งความสุข (แต่ไม่ได้บอกว่ามันจะไม่เหนื่อยนะ😅)


“วงการนี้เข้าแล้วออกยาก” เป็นประโยคที่เราได้ยินประจำในโลกของกาแฟ Specialty (และก็เป็นความจริงซะด้วย) เพราะสเน่ห์ของกาแฟพิเศษคือ มันมี “ทาง” ที่จะทำให้เราทำกาแฟให้ “ดีขึ้น” หรือ ได้ลองสิ่งแปลกใหม่ อยู่มากมาย และความรู้สึกที่เราได้เมื่อเรารู้สึกถึง “พัฒนาการ(Progress)” นั่นแหละ ที่ทำให้เรารู้สึกถึง “ความสุข(Happiness)”



 

Progress equals Happiness

พัฒนาการ เท่ากับ ความสุข

- Tony Robbins -

 

การที่เราใส่ใจว่า เครื่องบดกาแฟที่ดีขึ้น จะทำให้กาแฟของเราดีขึ้น ถึงแม้จะต้องจ่ายเงินเรือนหมื่น แต่มันก็คุ้มค่า หรือการลงทุนไปร่ำเรียนกาแฟชงกาแฟ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้คิดจะเปิดร้านกาแฟด้วยซ้ำ แค่คิดว่าจะทำยังไงให้เรา “ทำกาแฟ” ได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ


“ความมุ่งมั่น” ที่จะทำผลงานให้เข้าใกล้ความสมบูรณ์แบบ นั่นแหละคือ Kodawari


หลายคนอาจจะคิดว่า นี่มัน Perfectionism ชัด ๆ ...จะว่าใช่ ก็ใกล้เคียง แต่ไม่เหมือนซะทีเดียว... เพราะ Perfectionsim นั้นโฟกัสที่ “ผลลัพท์” ที่ต้องสมบูรณ์แบบเท่านั้น แต่ Kodawari โฟกัสที่ “การพัฒนา” ว่าอยู่บนทิศทางที่มุ่งสู่ความสมบูรณ์แบบรึเปล่ามากกว่า


การที่เรา Brew กาแฟแล้วไม่พอใจ Brew ใหม่เรื่อย ๆ เพื่อหาแก้วที่สมบูรณ์แบบ (ซึ่งไม่มีจริง) แล้วไม่ยอมเสริฟลูกค้า งานไม่คืบหน้าสักที นั่นคือ Perfectionsim แต่การที่เราหาวิธีทำให้แก้วนี้ ดีกว่าแก้วที่แล้ว นั่นคือ Kodawari


Hideaki Anno (ผู้กำกับภาพยนต์ เจ้าของผลงาน Evangelion) เป็นคนที่มี Kodawari ในการทำหนังมาก ๆ Rebuild Evangetion ภาคภาคสุดท้ายนั้นใช้เวลาสร้างนานถึง 9 ปี ระหว่างทางมีทั้งการฉีกบททิ้งหมดกลางทาง แล้วเขียนใหม่หมด มีทั้งการตัดต่อที่ดูเหมือนจะไม่จบสิ้น แต่สุดท้ายหนังก็เสร็จ และได้รับคำชื่นชมมากมาย


ซึ่งสำหรับตัว Anno เอง นั่นไม่ใช่ผลงานที่สมบูรณ์แบบ แต่งานของผู้กำกับภาพยนต์ คือการตัดสินใจว่า “จะพอที่ตรงไหน” ซึ่งการรู้ว่า ณ เวลานี้ ควรจะพอแค่ไหนนี่เอง ที่เป็นจุดที่มาบาลานซ์ การค้นหาความสมบูรณ์แบบ กับการสร้างสรรผลงาน


สำหรับกาแฟ เราสามารถนำ Kodawari ไปใช้ได้แทบทุกจุด เช่น การคั่วกาแฟ ที่นักคั่วจะต้องค้นหาโปรไฟล์การคั่วที่สมบูรณ์แบบ ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่ามันรสชาติ หน้าตา เป็นยังไง แต่ถึงจุดนึงนักคั่วทุกคนต้องตัดสินใจที่จะเลือกโปรไฟล์คั่วโปรไฟล์นึง (ไม่งั้นสารอาจจะหมดซะก่อน) เพื่อคั่วกาแฟออกมาให้ผู้คนได้สัมผัส




ครั้งหน้าถ้ามีใครมาถามว่า ทำไมต้องจริงจังกับกาแฟขนาดนั้น... ให้ตอบไปว่า “กาแฟเป็น Kodawari ของเรา☺️” พอเพื่อนเราทำหน้างง😦 เราก็กลับไปจิบกาแฟของเราต่อ ฟิน ๆ 🤣 ส่วนสำหรับคนที่ทำอาชีพกาแฟ ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่มีกาแฟเป็น Kodawari กันอยู่แล้ว 😁


Progress = Happiness

ถ้าเราทำกาแฟให้ดีขึ้นได้ เราก็ทำให้ชีวิตดีขึ้นได้ อย่างน้อยก็ในขณะที่เราดื่มกาแฟแก้วนั้น


เพราะ “ประสบการณ์คืองานคราฟท์


ปล. คำว่า Kodawari ไม่มีคำแปลแบบตรง ๆ ในภาษาไทย ส่วนในภาษาอังกฤษน่าจะใกล้เคียงกับคำว่า Craftsman Mindset ที่อธิบายไว้ในหนังสือ “So Good They Can’t Ignore You” (ดีซะจนคนมองข้ามไม่ได้) เขียนโดย Cal Newport


129 views0 comments

Recent Posts

See All

Commenti


bottom of page