top of page

Shoshin : Return to Beginner`s Mind

กลับไปหาจิตผู้เริ่มต้นผ่านกาแฟ


Shoshin, Coffee Experience, Passion, Beginner's Mind


ครั้งแรกที่ทุกคนเริ่มดริปกาแฟ เราจะไม่มั่นใจ ต้องทำอะไรก่อน อะไรหลัง Ratio ถูกมั้ย บดถูกเบอร์รึเปล่า ท่ารินน้ำเก้ ๆ กัง ๆ แต่เมื่อเราเริ่ม “คล่อง” ความไม่มั่นใจจะเริ่มหายไป ความเชี่ยวชาญเข้ามาแทนที่ พร้อมกับความรู้สึกว่าเรา “เก่งขึ้น” แล้ว... ในความเก้งก้าง และไม่มั่นใจในช่วงแรกนั้น ดูเผิน ๆ อาจเป็นขั้นตอนที่ทุกคนอยากผ่านมันไป และก้าวถึงจุดที่ “ความเชี่ยวชาญ” เข้ามาแทนที่ แต่ถ้าเราสังเกตดูดี ๆ จะพบว่า ช่วงที่เราเพิ่งเริ่มต้น และทำสิ่งที่ผิดพลาดอยู่บ่อย ๆ นั้น มีสิ่งนึงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา นั่นคือ... “การเรียนรู้ และพัฒนา”

ในคอนเทนท์นี้ ZMITH จะมาชวนคุยถึง 初心(Shoshin) หรือสิ่งที่เรียกว่า “จิตใจของผู้เริ่มต้น” ที่จะสามารถช่วยให้เราอยู่ในสถานะที่สามารถ “เรียนรู้” และ “พัฒนา” ได้ตลอดเวลา และเราจะสามารถใช้ “กาแฟ” มาช่วยให้เราพัฒนา Shoshin ขึ้นมาได้อย่างไร


初心者・Shoshinsha

ผู้เริ่มต้นใหม่


ไม่ว่าคุณจะเป็นช่างภาพ หมอผ่าตัด หรือรัฐมนตรี ถ้าไม่เคยจับกาดริปกาแฟมาก่อน เมื่อเริ่มหัดดริปกาแฟครั้งแรก ทุกคนล้วนเป็น “มือใหม่” กันทั้งนั้น ในภาษาญี่ปุ่นจะเรียกคนที่เพิ่งมาเริ่มต้นฝึกฝนทักษะใหม่ว่า 「初心者」・Shoshinsha (ในภาษาไทยก็จะคล้ายกับคำว่า “มือใหม่” แต่ก็จะไม่ตรงกันซะทีเดียว)

ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นไม่ว่าคุณจะอาวุโสแค่ไหน เก่งทักษะอื่นมากแค่ไหน เมื่อเข้ามาในสถานที่ใหม่ เริ่มฝึกทักษะใหม่ คุณจะต้องให้ความเคารพนับถือผู้ที่มีประสบการณ์เรื่องนั้น ๆ มากกว่า เพราะคุณจะต้องไปขอความเมตตาให้เค้าถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ ตัวอักษร 「初」มีความหมายว่า “เริ่ม” และตัวอักษร「心」แปลว่า “หัวใจ” ดังนั้น 「初心者」นอกจากจะมีความหมายว่า “มือใหม่” แล้ว ยังมีความหมายว่า “ผู้ที่มีหัวใจของผู้เริ่มต้นใหม่” อีกด้วย เพราะการเรียนรู้จะเริ่มขึ้นเมื่อเรามี “จิตใจ” ที่พร้อมจะเรียนรู้เท่านั้น (ภาษาอังกฤษเรียกว่า Beginner’s Mind)

จิตใจของผู้เริ่มต้นโดยธรรมชาตินั้นจะไม่มี “ความมั่นใจ” (แน่นอนล่ะ เพราะไม่รู้ว่าต้องทำอะไรยังไงบ้าง) และอีโก้ว่า “กูเก่ง กูเทพ” (จะมาเทพอะไร จับการินน้ำมือยังสั่นแหง่กๆๆๆ) ความไม่มั่นใจ และไร้ซึ่งอีโก้นี่แหละที่จะทำให้เราเสาะแสวงหาการเรียนรู้ และต้องการที่จะพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม

จนเมื่อเวลาผ่านไป ประสบการณ์ถูกสั่งสมมากขึ้น ดริปสูตรแชมป์มาหลายสิบครั้งแล้ว กาแฟก็อร่อยดี กินได้(เกือบ)ทุกรอบ... เอาล่ะ “กูเริ่มเก่ง” แล้วทีนี้ จาก 「初心者」ผู้เริ่มต้น จะกลายมาเป็น「経験者」・Keikensha หรือ “ผู้มีประสบการณ์”



経験者・Keikensha

ผู้มีประสบการณ์


ดริปกาแฟดื่มเองมาสักพัก ชิมกาแฟมาก็พอสมควร ความมั่นใจเริ่มมา จะเรียกว่า “มือใหม่” ก็ไม่ได้แล้ว ถึงจุดนี้คนส่วนใหญ่จะทำการ “เลื่อนขั้น” ตัวเองจากมือใหม่ ขึ้นมาเป็น “ผู้มีประสบการณ์” ตำแหน่งใหม่ที่มักจะมาพร้อมกับความมั่นใจที่มากขึ้น กับ “ตัวตนใหม่” ที่ไม่ใช่ฉันคนเดิม

ประสบการณ์ จะมาคู่กับความมั่นใจที่เพิ่มขึ้น และอัตราการเรียนรู้ที่ต่ำลง... เพราะคำถาม ข้อสงสัยต่าง ๆ สมัยเป็นมือใหม่ส่วนใหญ่ก็ได้คำตอบไปหมดแล้ว สิ่งที่เคยทำพลาด ตอนนี้ก็ไม่(ค่อย)พลาดแล้ว ความจำเป็นที่จะต้องหาความรู้เพิ่ม และฝึกซ้อมก็น้อยลง คนส่วนใหญ่จะติดอยู่ตรงนี้ เป็นผู้มีประสบการณ์ ซึ่งก็อาจจะดีพอแล้วสำหรับหลาย ๆ คน เช่นคนที่เป็น Home Brewer และคนที่ดริปกาแฟเพื่อสันทนาการ(Recreational Brewer) เพราะไม่มีความจำเป็นจะต้องพัฒนาไปให้มากกว่านี้ แค่ดริปกาแฟดื่มเอง อร่อยเอง มีความสุขเอง ก็เพียงพอแล้ว

แต่สำหรับคนที่เลือกกาแฟเป็น “เส้นทาง” ของชีวิต แน่นอนว่าคงไม่ได้พอใจแค่ทำกาแฟ “พอใช้ได้” หลายคนแสวงหา “ความดีเลิศ” หรือ “ความสมบูรณ์แบบ” ซึ่ง ณ จุดนี้ การเป็น 経験者・ผู้มีประสบการณ์ นั้นอาจจะไม่พอ เพราะสิ่งที่ต้องการนั้นเป็นวิสัยของ 達人・ยอดฝีมือ

ซึ่งการจะก้าวผ่าน Learning Curve ตรงนี้ไปได้เราต้องอาศัย 初心・Shoshin ที่เราเคยมีตอนเป็นมือใหม่ แต่ทำหล่นหายไปตอนที่ “เริ่มเก่ง” แล้ว


初心にかえる・Shoshin Ni Kaeru

กลับไปสู่จิตใจแห่งผู้เริ่มต้น


การที่จะก้าวข้ามตัวเองในปัจจุบัน(ซึ่งเก่งพอประมาณแล้ว) ให้เก่งขึ้นไปอีกนั้น จำเป็นต้องใช้ 初心・Shoshin แต่ตัวเราในตอนนี้ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์แล้ว จะให้กลับไปมีจิตใจเหมือนคนเริ่มหัดใหม่ มันฟังดูย้อนแย้งชอบกล ... แต่มันเป็นไปได้มาก ๆ


เพราะระดับความเชี่ยวชาญในทักษะนั้น ไม่ได้แปรผันตรงกับการมี “จิตใจของผู้เชี่ยวชาญ(Expert’s Mind)” แต่อย่างใด เชื่อว่าเกือบทุกคนจะเคยเจอคนที่มั่นใจในทักษะอะไรบางอย่างมาก ๆ แต่พอให้ลงมือจริง ๆ กลับไม่ได้เรื่องเลย... ในทางกลับกัน เราสามารถที่จะเชี่ยวชาญทักษะบางอย่างมาก ๆ แต่ก็ยังมี “จิตใจของผู้เริ่มต้น(Beginner’s Mind)” ได้ และสำหรับคนที่คลุกคลีอยู่กับกาแฟแล้ว เรามีวิธีที่จะสามารถกลับหา 初心・Shoshin ได้อยู่หลายวิธี เช่น


แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนอื่น (โดยเฉพาะคนที่เก่งกว่าเรา)


คนที่ดริปกาแฟเอง ชิมเองมาตลอด ถ้าลองได้ไปดริปกาแฟให้คนที่ทำอาชีพกาแฟจริง ๆ ดื่ม แล้วขอ Feedback แบบตรงไปตรงมา เราอาจจะได้ 初心・Shoshin กลับมาแบบรวดเร็วเลยก็ได้ เพราะเราจะรู้ว่า... ยังไม่ช่องให้พัฒนาได้อีกเพียบ



ทำความเข้าใจธรรมชาติของกาแฟ (กาแฟแตกต่างกันไปทุกครั้งที่ดริป)


ถ้าเข้าใจธรรมชาติของกาแฟ เราจะรู้ว่ากาแฟที่เราเทออกมาจากถุงเดียวกัน แต่ละวันนั้นไม่เหมือนเดิม องค์ประกอบทางเคมี น้ำหนัก กลิ่นรส ของกาแฟเปลี่ยนไปทุกวัน ไม่มากก็น้อย ดังนั้นในความเป็นจริง เราไม่เคยดริป หรือชิมกาแฟซ้ำกันเลยแม้แต่เสิร์ฟเดียว ทุกการริน ทุก ๆ การจิบ ล้วนเป็นประสบการณ์ “ครั้งแรก” ทั้งนั้น

ฝึกทักษะ Sensory


การมีสมาธิกับการรับรู้กลิ่นรสของกาแฟ จะทำให้เราเข้าใจว่า การมีความคิดจากประสบการณ์เดิมเข้ามาในหัว เป็นการบดบังการรับรู้ ณ ปัจจุบัน ทำให้การรับรู้บิดเบี้ยวไป และแม้การรับรู้ในแต่ละขณะ ก็ไม่เหมือนกัน แก้วกาแฟที่เปลี่ยนไป สิ่งแวดล้อมภายนอก คนที่อยู่ตรงหน้า ล้วนมีอิธิพลต่อการรับรู้ ทั้งสิ้น การชิมกาแฟด้วยจิตที่ว่างจากอคติ ก็คือการชิมกาแฟด้วย 初心・Shoshin

一期一会・Ichigo Ichie (Once, Never Again)

กาแฟก็เป็นเครื่องดื่มที่มีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง คล้ายกับชา ซึ่งปรัชญาในการดื่มชาหลาย ๆ อย่างก็สามารถนำมาปรับใช้กับกาแฟได้เช่นกัน ซึ่ง一期一会・Ichigo Ichie ที่เป็นปรัชญา Zen ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการชง・ดื่มชา ที่หมายถึงทุก ๆ ขณะคือประสบการณ์ใหม่ ที่จะเกิดขึ้นครั้งเดียว และจะไม่มีประสบการณ์ที่เหมือนกันเป๊ะแบบนี้เกิดขึ้นอีกแล้ว ดังนั้นมีสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้ใหม่อยู่เสมอ

Every Breath is the New Me


เป็นคำตรัสของพระพุทธเจ้า “เราเป็นคนใหม่ ทุก ๆ ลมหายใจ” ข้อความนี้ถูกพิสูจน์ว่าเป็นความจริงทั้งในทางปรัชญา และวิทยาศาสตร์ ร่างกาย และจิตใจของเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการไปยึดติดกับประสบการณ์ในอดีต ทะนงตนว่าฉันเก่งอย่างนั้น เคยทำมาขนาดนี้ ไม่มีประโยชน์ คน ๆ นั้นหายไปตั้งแต่เราหายใจออกเมื่อกี้แล้ว ทุก ๆ ขณะคือ “เราคนใหม่” ที่มาพร้อมกับ 初心・Shoshin และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่


結論・Conclusion

สรุปปิดท้าย

สำหรับโลกของกาแฟแล้ว ทักษะเป็นสิ่งที่สร้างสรรประสบการณ์ และประสบการณ์ก็เป็นสิ่งที่มาเพิ่มพูดทักษะของเราอีกที ความสวยงามคือ เราเลือกจะพอตรงจุดไหนก็ได้ ถ้าเราเป็น Home Brewer เพราะคนคนเดียวที่เราต้องทำให้พอใจก็คือตัวเราเอง

แต่สำหรับคนที่ทำกาแฟเป็นอาชีพแล้ว การเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องนั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเราจะหยุดอยู่ที่การเป็น 経験者・ผู้มีประสบการณ์ ไม่ได้ถ้าเราอยากจะสร้างประสบการณ์ที่ดีงามให้กับคนอื่น เราต้องกลายเป็น 達人・ยอดฝีมือ ที่สามารถรับมือกับกาแฟทุกแบบ และปัญหาทุกอย่างได้อย่างดีเยี่ยม เพราะหน้าที่ของคนยืนบาร์คือการสรรสร้างประสบการณ์ให้กับคนที่นั่งอยู่หน้าเรา


และการที่จะก้าวข้ามไปได้ เราต้องอาศัย 初心・จิตใจของผู้เริ่มต้น


初心忘れるべからず・อย่าลืมจิตใจของผู้เริ่มต้น


เพราะประสบการณ์คืองานคราฟท์


200 views0 comments

Recent Posts

See All

Yorumlar


bottom of page