องค์กรเบื้องหลังกาแฟพิเศษ
Coffee Organization, SCA, Specialty Coffee Association, Cup of Excellent, COE
ถ้า SCA คือผู้ขับเคลื่อนการยกมาตรฐานของกาแฟขึ้นไป และ COE ก็คือองค์กรที่คอยเฟ้นหาความดีเลิศในอุตสาหกรรมกาแฟ ตามชื่อ Alliance For Coffee Excellence ที่แปลตรงตัวได้ว่า “พันธมิตรเพื่อความเป็นเลิศของกาแฟ” (เรียก ACE เถอะ😅) ซึ่งเป็นองค์กรที่รับผิดชอบในการจัดงานประมูลที่มีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนชีวิตของเกษตรกรผู้ผลิตกาแฟได้ เรารู้จักงานประมูลนี้ในนาม COE หรือ Cup of Excellent (คุ้นยัง?)
COE Auction/Alliance for Coffee Excellence
ในปี 1999 ก่อนการถือกำเนิดของ iPhone และยุคของ Smartphone เกือบ 10 ปี หลัง Google ก่อตั้งได้เพียง 1 ปีและยังไม่เป็นที่รู้จัก คนหนึ่ง ร่วมกับ SCAA (Specialty Coffee Association of America) ได้ริเริ่มงานประมูลที่ชื่อว่าCOE ได้เกิดไอเดียบรรเจิดที่จะจัดงานประมูลกาแฟพร้อมกันทั่วโลกผ่าน Internet และให้โรงคั่ว และเทรดเดอร์ น้อยใหญ่ทั่วโลกเข้าร่วมการประมูลได้พร้อม ๆ กัน
ในยุคที่ความเร็ว Internet ยังไม่ถึง 1 MB นั้นงานประมูลออนไลน์ ถือเป็นเรื่องที่ใหม่และท้าทายเป็นอย่างมาก แต่ผลของงานประมูลนั้นเปลี่ยนแปลงโลกของกาแฟไปเป็นอย่างมาก เกษตรกรทั้งที่ได้รางวัล และไม่ได้รางวัลได้รับรู้ว่ามูลค่าของกาแฟที่เจ้าตัวปลูกอยู่นั้นมีมูลค่ามากกว่าที่เคยเข้าใจมาก ๆ เพราะราคากาแฟที่ขายผ่านระบบการประมูลนั้นมีราคาสูงกว่าการขายเมล็ดกาแฟแบบเดิม ๆ หลายเท่าตัว
การประมูลทางอินเตอร์เนตนั้นใคร ๆ ก็เข้าถึงได้ขอเพียงมีคอมพิวเตอร์ที่ต่ออินเตอร์เนตได้ (เข้าไปเห็น แต่อาจไม่มีตังซื้อ 😭) ความรับรู้เกี่ยวกับราคากาแฟคุณภาพสูงก็เปลี่ยนไป ราคาของกาแฟระดับ Top-Specialty ทั่วโลกก็สูงขึ้นไปตาม ๆ กัน ไม่เฉพาะกับกาแฟที่ร่วมประมูลผ่าน COE เท่านั้น (เฮ กันทั่วโลกเลยทีเดียว)
หลังจากความสำเร็จของการประมูลกาแฟ COE สามปีซ้อน ในปี 2002 ด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงินจาก Brazil Specialty Coffee Association (BSCA) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ชื่อว่า Alliance For Coffee Excellence (ACE) ก็ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อการจัดการที่เป็นระบบ และมุ่งที่จะสร้างผลกระทบในวงกว้างขึ้น
ถึงแม้ว่าการประมูลกาแฟ COE จะเป็นแบบเปิดกว้าง แต่การประเมินคุณภาพของกาแฟที่เข้าร่วมประกวดนั้นเป็นแบบปิด โดยกาแฟที่เข้าร่วมจะถูกประเมินคุณภาพจากคณะกรรมการที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษจากทั้งในประเทศผู้ผลิต(National Jury) และจากหลากหลายประเทศทั่วโลก (International Jury)
การประกวดกาแฟโดย ACE นั้นเป็นมหกรรม Cupping ครั้งมโหฬาร เพื่อความโปร่งใส และแม่นยำ กาแฟที่เข้าประกวดแต่ละตัวจะถูก Cupping เพื่อให้คะแนนหลายต่อหลายครั้งโดยคณะกรรมการ
🔹กาแฟที่ได้คะแนน 85+(เต็ม 100) จะได้เข้าชิงตำแหน่ง National Winners
🔹 กาแฟที่ได้คะแนน 87+ คะแนนขึ้นไปจะได้เข้ารอบ Cup Of Excellence และ
🔹 กาแฟที่ได้คะแนน 90+ จากการให้คะแนนที่โหดหินที่สุดนี้จะได้รับรางวัล President’s Award ไปครอบครอง (ซึ่งจริง ๆ President ไม่ได้ให้รางวัลอะไรหรอก แต่อาจทำให้ราคาประมูลสูงขึ้นพรวดพราด)
โดยที่การ Cupping และให้คะแนนตามระเบียบการของ COE นั้นจะต่างจากการ Cupping แบบ SCA อยู่พอสมควร
COE Cupping Protocol
การประเมินคุณภาพกาแฟสำหรับ COE นั้นเป็นเรื่องที่เข้มงวดมาก จุดประสงค์หลักของ COE คือการเฟ้นหากาแฟที่มีคุณภาพยอดเยี่ยมออกมา กาแฟที่มีความ Clean และ Sweetness ที่สม่ำเสมอ ในขณะเดียวกันก็มีโปรไฟล์รสชาติที่โดดเด่น นั่นคือสิ่งที่เหล่า Cupper ตามหา
ในการ Cupping กาแฟที่เข้าร่วมประกวดนั้น จะเป็น Blind Cupping ทั้งหมด คณะกรรมการจะไม่รู้เลยว่ากาแฟตัวไหนมาจากฟาร์มไหน สายพันธุ์อะไร โปรเซสอะไร การให้คะแนนจะมาจากรสชาติของกาแฟล้วน ๆ และกาแฟแต่ละตัวจะถูก Cupping หลายครั้ง ต่างเวลา และต่างวันกัน เพื่อลดอคติ และความผิดพลาดลงให้มากที่สุด
Cupper ของ COE ทุกคนเป็นคนที่มีประสบการณ์ระดับ Professional ในวงการกาแฟอย่างน้อย 3 ปี และผ่านหลักสูตรการอบรมพิเศษสำหรับการให้คะแนนด้วยเกณฑ์ของ COE แล้ว... ถึงอย่างนั้นในการ Cupping แต่ละรอบACE ก็จัดให้มีคณะผู้สังเกตการณ์ที่เป็นบุคคลที่ 3 (ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการประมูล) เพื่อให้มั่นใจได้ถึงความโปร่งใสในการตัดสินอีก (โหดจริง ไรจริง)
จากตัวอย่างกาแฟกว่า 300 ล็อตจากฟาร์มต่าง ๆ ในประเทศ(ที่มีการจัดประกวด) จะถูกคัดออกไปเป็นจำนวนมากกาแฟที่ได้คะแนน 85+ (ซึ่งหายากมาก) จะได้ชื่อว่าเป็น National Winners และกาแฟที่ได้คะแนน 87+ จะถูกจัดอันดับ และได้เข้าร่วมงานประมูล COE ซึ่งจะทำให้กาแฟล็อตนั้นมีราคาสูงกว่าการขายแบบปกติหลายเท่าตัว
COE มีประโยชน์ยังไงต่อเกษตรกร?
ตั้งแต่ปี 1999 ที่ COE จัดประมูลมา เหล่าเกษตรกรผู้ผลิตที่เข้าร่วมการประมูลก็ได้เงินกันไปกว่า 1,000 ล้านบาท(หนึ่งพันล้านนนนน) และมาตรฐานคุณภาพกาแฟในประเทศที่มีการประมูล COE ก็พุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะมันเป็นการบอกกันโต้ง ๆ ว่า “คุณภาพผลผลิตที่สูงขึ้น” = “รายได้ที่มากขึ้น” = “คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” (แล้วใครมันจะไม่พยายามทำให้ดีล่ะแบบนี้)
ในปัจจุบัน ประเทศที่เข้าร่วมกับ ACE เพื่อจัดประมูล COE คือ Ethiopia, Nicaragua, Guatemala, El Salvador, Costa Rica, Colombia, Peru, Brazil, Mexico, Burundi, Bolivia, และ Rwanda (บางประเทศไม่ได้จัดทุกปี) เชื่อว่าถ้าวันนึงกาแฟไทยได้เข้าร่วมงานประมูล COE คุณภาพกาแฟไทยน่าจะพุ่งทะยานขึ้นไปมากเหมือนกัน 😁
COE มีประโยชน์อะไรกับเรา ผู้บริโภค?
ง่าย ๆ เลย... ความมั่นใจ... มั่นใจว่าได้กาแฟที่ดีงามจริง ๆ เพราะกาแฟที่ติดสัญลักษณ์ COE อย่างน้อย ๆ ก็คือกาแฟที่ได้ Cupping Score 87+ ตาม COE Protocol ซึ่งก็อย่างที่รู้ว่าวิธีการในการประเมินคุณภาพของ COE นั้นโหดหินและโปร่งใสจริง ๆ
เพราะในโลกของกาแฟ การสื่อสารที่ตรงไปตรงมาด้วยความซื่อสัตย์ เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ การทำให้คนได้รับประสบการณ์ที่ดี จากกาแฟคุณภาพดี เป็นความสุขของคนทำกาแฟ และถ้าคนดื่มมีความสุข ความสุขนั้นก็ย่อมกลับไปที่ผู้ผลิตด้วย
กาแฟเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่สามารถสร้างประสบการณ์ดี ๆ ได้กับทั้งคนสร้าง และคนเสพย์ (กาแฟนะ ไม่ใช่ยาอี😅) เรามาช่วยกันสร้างประสบการณ์กาแฟดี ๆ ให้เกิดขึ้นมาก ๆ กันครับ (ในช่วงเวลาที่โลกภายนอกอาจไม่เป็นใจ)
.
เพราะ “ประสบการณ์คืองานคราฟท์” 😁
.
Comments