เทคนิคการดื่มกาแฟอย่างมีสติ เพื่อเพิ่มการรับรู้ by Freda Yuan
Coffee Technique, Sensory Skill, Freda Yuan, Coffee Tasting, Coffee How to
บางคนบอกว่า Taste Note🎶 ก็เหมือนผี รู้ว่ามี แต่มองไม่เห็น 👻 หลายคนเลยเริ่มตั้งคำถามว่า ทำยังไงถึงจะมองเห็นผี เอ้ย… จับเทสโน้ตได้เก่ง ๆ บ้าง
คนที่ตามอ่านบทความของ ZMITH อยู่น่าจะเริ่มเข้าใจแล้วว่าเวลาเราชิมกาแฟ หรืออาหารอื่น ๆ เราไม่ได้ใช้แค่ลิ้นในการรับรส และจมูกในการรับกลิ่น แล้วจบ… เพราะ “การรับรู้” ของมนุษย์ เกิดขึ้นที่สมอง ที่ซึ่งสัญญาณจากสัมผัสต่าง ๆ ทั้ง กลิ่น รส สัมผัส ภาพที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ความคิด และแม้แต่อารมรณ์ความรู้สึก ณ ขณะนั้น ๆ จะหลั่งไหลไป และถูกประมวลผลพร้อม ๆ กัน
การที่เราจะใช้ “สัมผัส” ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีนั้น เป็น “ทักษะ” ที่ต้อง “ฝึกฝน” ถึงจะเก่ง เหมือนกับทักษะอื่น ๆ เช่น ทักษะทางกีฬา หรือการทำงาน ดังนั้นพอเรามาเริ่มจริงจังกับเรื่องกลิ่นรส เราจะเริ่มเห็นความแตกต่างระหว่างบุคคลของทักษะการสัมผัสรับรู้ (Sensory Skill) ได้บ่อยขึ้น (เช่นการที่เราจับโน้ตไม่ได้อะไรไม่ได้เลย แต่บางคนชิมกาแฟตัวเดียวกันแต่บรรยายโน้ตได้ร้อยแปด😅)
“ทักษะ” นั้นต้องใช้เวลาในการฝึกฝน และเป็นหนทางการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่บางทีการรู้ “เทคนิค” ก็สามารถช่วยให้เราทำอะไร ๆ ได้ดีขึ้นแบบทันทีได้เลย และวันนี้ ZMITH จะมานำเสนอเทคนิคในการชิมกาแฟของ Freda Yuan (แชมป์ 3 สมัย UK Cup Tasting Championship)
Freda Yuan ผู้เขียนหนังสือ Sip ‘n’ Slurp เป็นนักชิมกาแฟมืออาชีพ ซึ่งเส้นทางชีวิตของเธอไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ถึงแม้จะประสบความสำเร็จในอาชีพ แต่เธอก็ต้องทรมานกับโรคซึมเศร้า และ Bulimia (โรคเกี่ยวกับการกินชนิดหนึ่ง) ซึ่งสิ่งนึงที่ช่วยให้เธอผ่านวิกฤติในชีวิตมาได้ก็คือ “การฝึกสติ (mindfulness)” และมันทำให้เธอรู้ว่า การชิมกาแฟสามารถทำควบคู่ไปกับการฝึกสติได้ และยังสามารถช่วยเพิ่มความสามารถในการรับรู้กลิ่นรสได้ด้วย
Be Present & Empty 🔅
Freda ได้แชร์เทคนิคสำหรับเพิ่ม “Sensory Awareness(การรับรู้ทางประสาทสัมผัส)” ซึ่งเป็นเทคนิคที่ผสานเอาทักษะทางกาแฟ เข้ากับทักษะที่ได้จากการฝึกสติแบบพุทธ คือ “การมีสติอยู่กับปัจจุบัน(Present) และว่าง (Empty) จากความคิดปรุงแต่ง”
เป็นการโน้มจิตให้เหมือนกับน้ำนิ่งที่ใสสะอาด ฝุ่นตะกอนต่าง ๆ ตกไปอยู่ที่ก้นบ่อ เมื่อมีหมึกหยดลงมาเพียงเล็กน้อยก็จะเห็นได้อย่างชัดเจน (เทคนิคที่เป็นที่นิยมคือการมีสติอยู่กับลมหายใจ)
ซึ่งกลับกันกับธรรมชาติของจิตที่มักจะเต็มไปด้วยความคิด ข้อมูลและสัมผัสต่าง ๆ เหมือนกับน้ำที่ถูกกวนให้ขุ่นอยู่ตลอดเวลา ต่อให้มีหินตกลงมาทั้งก้อน ก็ยากที่จะเห็นได้… (และส่วนใหญ่เราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันขุ่นอยู่ เหมือนกับปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำขุ่น)
การชิมกาแฟก็เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โน้ตกาแฟที่จับได้ยาก ก็คล้ายกับน้ำหมึกหยดเล็ก ๆ ถ้าจิตใจไม่นิ่งพอ เราก็ไม่สามารถที่จะมองเห็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นในน้ำได้ หรือถ้าจิตใจวุ่นวายมากพอ ต่อให้โน้ตชัดขนาดไหนก็อาจจะสัมผัสได้ยาก ฉันใด… ฉันนั้น… (สาธุ🙏🏼)
เทคนิคที่ Freda แชร์เอาไว้นั้นมีด้วยกันอยู่ 4 เทคนิค
Remove preconception & bias
กำจัดอคติ และการตั้งธงไว้ก่อน
หลายคนที่เพิ่งเริ่มดื่มกาแฟ Specialty อาจจะเคยโดนบาริสตาถามว่า “ได้(โน้ต)อะไรบ้าง” แล้วก็อึ้งกิมกี่บอกไม่ถูก บางคนอาจเป็นเพราะจับโน้ตไม่ได้จริง ๆ แต่สำหรับหลาย ๆ คนอาจจะเป็นเพราะไม่มั่นใจ และกลัวที่จะ “ตอบผิด” (คือ ถึงไม่ได้อยู่ในห้องสอบ แต่ก็ไม่อยากผิดง่ะ😣)
ถ้าใครเคยเข้า Class Sensory สิ่งนึงที่ผู้สอนมักจะบอกก็คือ การชิมกาแฟ “ไม่มีผิด ไม่มีถูก” เพราะแต่ละคนมีร่างกาย ประสบการณ์ และความทรงจำที่แตกต่างกัน กลิ่นรสนึง อาจจะทำให้คนคนนึงนึกถึง แอปเปิ้ล ในขณะที่อีกคนนึกถึงผลไม้อย่างอื่นก็ได้… ไม่มีใครผิด
ซึ่งความแตกต่างพวกนี้เป็นเรื่องปกติมาก ๆ แม้แต่กับคนที่เป็นมืออาชีพเอง นี่เป็นเหตุผลว่า เวลานักชิมจะมาทำงานร่วมกัน จะต้องมีการมาปรับจูนความเข้าใจให้ตรงกันก่อน (Calibration)
การกำจัดอคติ ความเชื่อ และธงต่าง ๆ เช่น “เราเพิ่งมาเริ่มดื่มกาแฟ ไม่น่าจะได้โน้ตอะไรหรอก” ที่อยู่ในใจออกไป เป็นการเตรียมจิตใจให้พร้อม เคลียร์หัวให้ว่าง สำหรับการรับรู้สิ่งที่อยู่ตรงหน้า
Be present and mindful
มีสติ อยู่กับปัจจุบันตรงหน้า
เมื่อเคลียร์หัวให้ว่างก่อนการชิมแล้ว ขณะชิม เราคิดอะไร? ถ้ากำลังคิดถึงเรื่องที่ทะเลาะกับเพื่อนเมื่อวานหรือพะวงว่าแฟนจะเจอเงินที่ซ่อนไว้มั้ย ก็คงยากที่จะชิมกาแฟให้ได้เรื่อง เพราะสมองน่าจะไม่เหลือที่ว่างสำหรับการ Process กลิ่นรสแล้ว 😂 เทคนิคที่สองของ Freda คือ “อยู่กับปัจจุบัน”
เป็นธรรมดาที่เราจะ “หลง” ไปในความคิด และไม่อยู่กับปัจจุบันตรงหน้า ซึ่งมีอยู่หลายวิธีที่จะช่วยให้เรา“ดึงสติ” กลับมาอยู่กับปัจจุบันได้ และหนึ่งในเครื่องมือที่ง่ายที่สุดคือ “การหายใจเข้าลึก ๆ และหายใจออกยาว ๆ” พาสติกลับมาอยู่กับประสาทสัมผัสทั้ง 5 (ถ้ามันหลุดไปอีก ก็พากลับมาใหม่อีก) ซึ่งจะทำให้เรารับรู้กลิ่นรส และประสบการณ์ต่าง ๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น (รวมถึงทำให้จำได้แม่นขึ้นด้วย) เทคนิคนี้ไม่ได้แค่ช่วยให้ประสาทสัมผัสเราทำงานดีขึ้น และรับรู้กลิ่นรสกาแฟได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มสุนทรียในการใช้ชีวิตด้านอื่น ๆ ด้วยเช่น การฟังเพลง พูดคุยกับเพื่อน ทานอาหาร ใช้เวลากับครอบครัว ฯลฯ…
Slow down
ช้าก่อนอานนท์
การ Slow down ไม่ได้หมายความว่าให้เคลื่อนไหวแบบ Slow Motion แต่หมายถึงการมีสติ และใส่ใจในแต่ละขั้นตอน เช่น การ “ดื่มกาแฟ” โดยทั่วไปอาจจะหมายถึงแค่การยกแก้วขึ้นจ่อปาก ดื่มกาแฟ แล้วกลืน… ซึ่งไม่ได้ผิดอะไรเลย ปกติซะด้วยซ้ำ แต่ถ้าอยากจะ “รับรู้” กลิ่นรสให้ดีขึ้นกว่าเดิมแนะนำว่า ให้แยกย่อยขั้นตอนลงไปอีก
<หนึ่ง👃🏻> ดมกลิ่น ก่อนที่จะดื่ม เพราะกลิ่น ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เราจะเอาเข้าปากได้เยอะมาก ๆ และโดยกลไกธรรมชาติ กลิ่นนี่แหละที่จะเป็นสิ่งที่บอกว่า เราควรจะเอาสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เข้าปากไปจริง ๆ รึเปล่า
<สอง👅> หลังจากกาแฟเข้าปากแล้ว ให้สังเกตความรู้สึกในปาก น้ำหนัก และความรู้สึกของของเหลวบนลิ้น มันเบา หรือหนัก หนา หรือบาง
<สาม👄> ขณะกลืนรู้สึกยังไง ลื่นคอ หรือฝืดเฝื่อน หลังจากกลืนไปแล้ว ยังมีอะไรเหลืออยู่
Freda บอกว่า เธอใช้เทคนิคนี้ในการฝึก Sensory เวลากิน/ดื่ม อาหารทุกอย่างไม่ใช่เฉพาะกับกาแฟเท่านั้น เพราะการค่อย ๆ สัมผัสประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสอย่างมีสติทุกขั้นตอน จะทำให้สมองสร้างความทรงจำด้านกลิ่นรสเพิ่มขึ้นได้มาก ซึ่งจะทำให้ Sensory Skill โดยรวมดีขึ้น
Understanding sensorial language and context
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษาเฉพาะทาง และบริบทที่ใช้ในการสื่อสาร
ประสบการณ์ด้านกลิ่นรส เป็นเรื่องส่วนตัวก็จริง แต่เมื่อต้องสื่อสารสิ่งที่สัมผัสได้ออกไป เมื่อนั้นศัพท์ต่างๆ จะจำเป็นขึ้นมาทันที การสื่อสารกับคนอื่น ๆ เช่นในห้องเรียน หรือ Calibration Session การ Cupping รวมกันเป็นกลุ่ม การสื่อสารด้วยภาษา และบริบทที่เข้าใจตรงกันจะทำให้สามารถแลกเปลี่ยน เรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกันได้สะดวกขึ้นมาก
การสามารถสื่อสาร และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ระหว่างบุคคลนั้นช่วยให้การพัฒนาทักษะมีประสิทธิภาพมากขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะกับคนที่ตั้งใจจะทำอาชีพด้านกาแฟ เพราะการสื่อสารกับคนอื่น ๆ ในสายงานนั้นเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้เลย
กาแฟแบบ Slow Bar นั้นเป็นที่นิยมในหมู่คนที่ต้องการใช้ชีวิตให้ช้าลง(Slow Life)อยู่แล้ว แต่จะดีแค่ไหนถ้าประสบการณ์ Slow Life นั้นมันพาเราไปสัมผัสกับความรู้สึกที่มากกว่าแค่ความชิล การมีสติ ตั้งใจ และใส่ใจในทุกขั้นตอน โดยไม่เครียดจนเกินไป เป็นวิธีการที่จะพาเราเข้าสู่สภาวะ Flow ที่สามารถนำเราไปถึงสิ่งที่ A. Maslow เรียกว่า Peak Experience ซึ่งเป็นอยู่บนยอดสุดของพิรามิด🔺Hierarchy of Need ได้เลย
บางทีความสุขอาจจะไม่ได้อยู่ที่ไหนไกล แค่เราต้องเปิดใจ♥️ และรับรู้มัน…
เพราะประสบการณ์คืองานคราฟท์ ☺️
Commenti