top of page

How Coffee Keep Us AWAKE

Updated: Aug 21, 2022

กาแฟทำให้เรา 'ตื่น' ได้อย่างไร


Caffeine, Physiology, Caffeine Withdrawal, Sleepiness

เป็นที่รู้กันว่า กาแฟเป็นเครื่องดื่มแก้ง่วง เราถึงชอบดื่มกาแฟตอนเช้า และดื่มกาแฟในเวลาที่เราไม่อยากง่วง เช่น ช่วงบ่าย ๆ หลังอาหารกลางวัน…​ (แค่นึกก็อยากงีบแล้ว) หรือเวลาที่ต้องอ่านหนังสือ หรือทำงานโต้รุ่ง


ทำไมกาแฟถึงทำให้เราตื่นได้?

วันนี้ ZMITH จะพาไปเปิดโลกของวิทยาศาสตร์ทางสรีรวิทยา(Physiology) เพื่อตอบคำถามว่า ทำไมเราต้องได้กาแฟถึงจะตื่น และทำไมวันที่กาแฟไม่เข้าร่าง เราถึงปวดหัว 😂



Why We Get Sleepy

คนเราทำไมต้องง่วง?


เหลือบไปมองนาฬิกา ตอนนี้ 5 ทุ่มแล้ว… ทำไมหนังตามันถึงได้หนักแบบนี้ นึกขึ้นได้เมื่อเช้าหมาเห่า ปลุกตื่นตั้งแต่ตี 5 ครึ่ง นับมาจนถึงตอนนี้ก็ผ่านมากว่า 16 ชั่วโมงแล้ว มันก็ต้อง “ง่วง” แหละเนอะ


ทำไมเราถึงง่วง? เพราะเราใช้พลังงานไปเยอะระหว่างวันรึเปล่า หรือเพราะว่ามันมืดแล้ว จะว่าไปอากาศเย็นสบายในห้องนอนก็ชวนให้อยากพุ่งลงที่นอนเหมือนกันเนอะ… ถ้าถามว่าอะไรทำให้เราง่วง ก็ต้องตอบว่า …ถูกทุกข้อ


ร่างกายเรามีนาฬิกาชีวภาพที่ทำให้เราใช้ชีวิตสอดคล้องกับวงจร 24 ชั่วโมงที่เกิดจากการหมุนของโลก นักวิทยาศาสตร์เรียกระบบนี้ว่า Circadian Rhythm สำหรับสิ่งมีชีวิตที่ตาถั่วเวลากลางคืนอย่างมนุษย์แล้ว จังหวะชีวิตโดยปกติของเราถูกเซตให้ตื่นกลางวัน หลับกลางคืน


การง่วงนอนของเราก็เป็นหนึ่งในกลไกของนาฬิกาชีวภาพนี้ ซึ่งสิ่งที่ทำให้เราง่วงคือ อุณหภูมิที่ต่ำลง แสงสว่างที่น้อยลง และการสะสมของเสียจากการใช้พลังงานของเซลส์ต่าง ๆ ในร่างกายโดยเฉพาะในสมอง ซึ่งร่ายกายต้องกำจัดออกด้วยการนอน ซึ่งวันนี้เราจะมาคุยกันถึงโมเลกุลที่มีชื่อว่า Adenosine (อะ-ดี-โน-ซีน)



Adenosine

โมเลกุลแห่งความเนือย


ในร่างกายคนเรามีเซลส์อยู่ประมาณ 30 - 40 ล้านล้านเซลส์ (กินกาแฟยังไงให้ลงลึกถึงระดับเซลส์😂) ซึ่งเซลส์ทุกเซลส์ก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องใช้พลังงานในการทำงาน และเติบโต เราอาจเคยได้ยินมาว่า “น้ำตาล” คือพลังงาน… ก็ไม่ผิด แต่ทำไมคนที่ไม่กินแป้ง ไม่กินน้ำตาล ถึงยังมีแรง?


นั่นเป็นเพราะว่า สุดท้าย ไม่ว่าจะเป็น น้ำตาล โปรตีน หรือไขมัน ถ้าเซลส์จะเอาไปใช้เป็นพลังงาน โมเลกุลสารอาหารพวกนี้จะต้องถูกเปลี่ยนเป็นโมเลกุลที่เรียกว่า ATP หรือ Adenosine Triphosphate (อดีโนซีนไตรฟอสเฟต) ซึ่งเป็นโมเลกุลที่ให้พลังงานกับเซลส์ในร่างกายของเรา


ถ้าเครื่องยนต์สันดาปขับเคลื่อนด้วยแรงระเบิดจากการเผาไหมเชื้อเพลิง และพ่นไอเสียเป็นก๊าซต่าง ๆ ออกมา เซลส์ในร่างกายเราก็ทำงานโดยใช้พลังงานจากการแตกตัวของ ATP(Adenosine Triphosphate) และสิ่งที่เหลือเป็นไอเสียก็คือ… Adenosine นั่นเอง


Adenosine มีฤทธิ์ทำให้เซลส์ประสาททำงานน้อยลง เมื่อมันไปเกาะเข้ากับ “ตัวรับ(Receptor)” ที่เซลส์ประสาท และที่ที่มีเซลส์ประสาทหนาแน่นที่สุด รวมทั้งเป็นอวัยวะที่ใช้พลังงานมากที่สุด นั่นก็คือ “สมอง” และนี่เป็นที่มาของ “ความง่วง” หรืออาการ “เนือย” ในช่วงค่ำ โดยเฉพาะวันที่เราต้องใช้สมอง หรือออกแรงเยอะ ๆ


ปริมาณ Adenosine ที่สะสมอยู่ในร่างกายจะสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากเราตื่นนอน และจะถูกกำจัดออกไปในระหว่างการนอนหลับ ปริมาณ Adenosine จึงเหลือน้อยในช่วงที่เราเพิ่งตื่น ซึ่งการที่เรา “ง่วงนอน” นั้นเป็นผลจากสารเคมีในร่างกาย


แต่… ถ้า Adenosine ถูกกำจัดออกไปหมดตอนที่เรานอน ทำไมตอนตื่นนอนเรายังรู้สึกง่วงอยู่อีกล่ะ?



Sleep Inertia

อาการงัวเงีย


เราทุกคนรู้จักความรู้สึกนี้ดี… ความรู้สึกว่าแรงดึงดูดระหว่างหมอนกับหัวของเรามันรุนแรงมาก ผ้าห่มก็เหมือนจะแนบติดตัวเราจนแทบจะกลายเป็นผิวหนังชั้นที่สอง… แต่เราก็ต้องแกะตัวเองออกมาจากที่นอน พร้อมกับความรู้สึก “งัวเงีย” ที่ไม่มีใครชอบ


โดยปกติ Sleep Inertia หรืออาการงัวเงีย จะอยู่ประมาณ 15 - 60 นาที แต่บางทีอาจเป็นอยู่หลายชั่วโมงเมื่อกระบวนการนอนหลับของเราทำงานได้ไม่เต็มที่ หรือมีข้อพกพร่อง …ระหว่างการนอนหลับ ร่างกายจะได้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ สมองได้จัดการข้อมูล และกำจัดของเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างวันออก… แต่ก็เหมือนกับกระบวนการอื่น ๆ ของร่างกาย มันสามารถเกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้


การนอนเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน แม้ในวงการวิทยาศาสตร์เองก็ยังมีเรื่องที่ไม่เข้าใจอยู่มากมาย ดังนั้นสาเหตุของอาการงัวเงียนั้นอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และหนึ่งในนั้นก็คือ Adenosine ที่ยังเหลืออยู่ในสมองของเรามากกว่าที่ควรจะเป็น… เลยทำให้เราตื่นมา “งัวเงีย” แทนที่จะ “สดชื่น”


เมื่อมีอาการงัวเงียขึ้น อาการที่จะเกิดขึ้นก็คือ อยากกาแฟ!! นั่นเพราะเรารู้ดีว่าเราสามารถโกงชีวิตได้ด้วย “ยาตื่น” ที่มีอยู่ในกาแฟ “คาเฟอีน” นั่นเอง



Caffeine

คาเฟอีน


คาเฟอีน(Caffeine)เป็น สารออกฤทธิ์ทางจิตประสาท ที่มนุษย์ใช้กันมากที่สุดในโลก และหนึ่งในเหตุผลที่มันถูกใช้ก็คือ… มันสามารถจัดการกับอาการง่วง หรืองัวเงียได้ !!


สารออกฤทธิ์ทางจิตประสาท หรือ Psychoactive Drug เป็นชื่อที่ฟังดูน่ากลัว ความเป็นจริงคือมันเป็นคำกลาง ๆ ที่หมายถึงสารเคมีที่ออกฤทธิ์กับระบบประสาทส่วนกลางของเรา ทำให้อารมณ์ การรับรู้ พฤติกรรม ความคิด เปลี่ยนแปลงไป …แอลกอฮอล์ และนิโคติน(ในบุหรี่) ก็ถูกจัดเป็นสารออกฤทธิ์ทางจิตประสาทเช่นกัน


สารออกฤทธิ์ทางจิตประสาทมีผลต่อระบบประสาทของเรา เพราะมันไปทำอะไรบางอย่างกับเซลส์ประสาทของเรานั่นเอง ซึ่งสำหรับคาเฟอีน สิ่งที่มันทำคือ มันไปเกาะกับ “ตัวรับอดีโนซีน(Adenosine Receptor)” ที่ปลายเซลส์ประสาท ขวางทางไม่ให้ Adenosine เข้าไปเกาะ


เมื่อ Adenosine ที่มีฤทธิ์ทำให้เซลส์ประสาทหงอยลง เกาะเข้ากับตัวรับไม่ได้ เซลส์ประสาทเราก็ลั้นลา ยิงประจุไฟฟ้ารัวเหมือนเดิม ผลคือเราก็ไม่ง่วง Bravo!! (ทำงานโต้รุ่งกันต่อไป พรุ่งนี้พรีเซนต์) ปัญหาคือร่างกายเราไม่ได้หน่อมแน้มขนาดที่จะยอมให้เราใช้คาเฟอีนโกงชีวิตไปได้เรื่อย ๆ



Caffeine Withdrawal

เมื่อเราสู้กับความง่วง แต่ความง่วงสู้กลับ


เมื่อเราใช้คาเฟอีนในการโกงความง่วงบ่อย ๆ เข้า ร่างกายจะเริ่มรับรู้ได้ว่า เอ๊ะ ทำไม Adenosine ไม่ทำงาน? และเริ่มสร้าง “ตัวรับ(Receptor)” ให้มากขึ้นเพื่อให้ Adenosine ทำงานได้ปกติ ผลคือ คาเฟอีนปริมาณเท่าเดิม อาจจะไม่ได้ทำให้รู้สึก “ตื่น” ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป


เมื่อกินกาแฟเท่าเดิม แต่ดันง่วงเหมือนเดิม… มนุษย์อย่างเราจะทำยังไง? ‘ก็กินกาแฟเพิ่มสิ รอไร😂’ แรก ๆ ก็ได้ผลดีหรอก แต่เดี๋ยวร่างกายก็สร้างตัวรับอดีโนซีนเพิ่มอีก ชีวิตก็จะวนลูป กินแฟเพิ่ม กลับมาง่วง กินเพิ่มอีก ก็กลับมาง่วงอีก วนไป… และในที่สุดวันนั้นจะมาถึง… วันที่เรา ไม่ได้กินกาแฟ


ความหงึ่ม…😞 มึน…😵‍💫 เหมือนสมองยังไม่ตื่น😴 แถมด้วยอาการปวดหัวตึ้บ😵 เป็นสิ่งที่คอกาแฟทุกคนเจอเมื่อถึงวันที่ “ชีวิตขาดกาแฟ” อาการนี้เรียกว่าอาการ “ถอน(Withdrawal)” คาเฟอีน… สารออกฤทธิ์ทางจิตประสาทแทบทุกตัว เมื่อใช้เป็นประจำ และหยุดกระทันหัน จะเกิดอาการถอน สำหรับสารบางตัวอาการจะหนักมาก ถึงขึ้นตายได้ ที่เราเรียกกันว่า “ลงแดง”


สำหรับคาเฟอีน อาการ “ถอน” อย่างแย่ก็คืออาการปวดหัวอย่างหนัก เท่าที่รู้ยังไม่การบันทึกว่ามีคนเคยตาย หรือถ่ายเป็นเลือดจากการไม่ได้กินกาแฟ (ดังนั้นสบายใจได้) คำถามคือ… ทำไมถึงเกิดอาการถอน?


ติ๊ต่างว่าเซลส์ประสาทปกติตัวนึงมีตัวรับอดีโนซีนอยู่ 5-6 แท่ง แต่จากการกินกาแฟทุกวัน ร่างกายก็เลยสร้างตัวรับเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ สมมติว่าเราสะสมได้มา 10 - 20 แท่ง… ถ้าเรายังได้คาเฟอีนเป็นประจำเหมือนเดิม ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะตัวรับส่วนใหญ่จะมีคาเฟอีนเข้าไปจอดอยู่… แต่ถ้าวันไหนไม่มีขึ้นมาละก็… หึหึ… บู้ม โกโก้ครั้นช์


จากความง่วง งัวเงียปกติ… อยู่ ๆ ก็มีตัวรับเพิ่มขึ้น ทำให้ Adenosine เกาะได้มากกว่าปกติสองสามเท่าตัว เพราะคาเฟอีนแค่ไปแย่งที่จอด Adenosine แต่ไม่ได้ทำให้ปริมาณของ Adenosine ลดลง เมื่อมีตัวรับเพิ่มขึ้น Effect ของ Adenosine ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เป็นที่มาของอาการ “ถอนคาเฟอีน” นั่นเอง



Conclusion

สรุป


กาแฟสามารถช่วยให้เราโกงความง่วงได้ เพราะคาเฟอีน(Caffeine)ในกาแฟไปแย่งที่จอดอดีโนซีน(Adenosine) สารที่เป็นเหมือนไอเสียจากการใช้พลังงานของเซลส์ในร่างกาย และมีฤทธิ์ทำให้เซลส์ประสาททำงานน้อยลง มีส่วนทำให้เรารู้สึกง่วงเหงาหาวนอน


โดยธรรมชาติ Adenosine จะถูกกำจัดออกไประหว่างที่เรานอนหลับ แต่ถ้าเราหลับไม่ดี หรือนอนไม่พอ จะยังมี Adenosine เหลืออยู่ปริมาณมากในตอนที่เราตื่นนอน เป็นที่มาของอาการงัวเงีย (Sleep Inertia) ซึ่งมนุษย์เราใช้คาเฟอีนในการโกงความงัวเงียนี้มายาวนาน


คาเฟอีนเป็นสารที่มีรูปร่างโมเลกุลคล้ายกับอดีโนซีน ทำให้มันสามารถเกาะกับตัวรับอดีโนซีนได้ แต่ไม่ทำให้เซลส์ประสาทหงอยลง เลยทำให้เรารู้สึก “ตื่น” แต่เมื่อเวลาผ่านไป ร่างกายจะสร้างตัวรับอดีโนซีนเพิ่มเพื่อทดแทน เป็นเหตุให้เราเกินอาการ “ถอน” คาเฟอีน ในวันที่กาแฟไม่เข้าร่าง


คำแนะนำเบื้องต้นคือ ถ้ากินกาแฟปริมาณเท่าเดิม แล้วยังไม่หายง่วง อย่าเพิ่มปริมาณกาแฟ หรือความเข้มข้นเพื่อโกงชีวิต แต่ให้กลับไปดูที่ต้นตอคือคุณภาพการนอนก่อน ไม่งั้นเราอาจติดลูปเพิ่มปริมาณคาเฟอีนขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของเรา (ทั้งทางกาย และการเงิน)


อะไรที่มากไปมักจะไม่ดี กาแฟก็เช่นกัน และในเมื่อโควต้าคาเฟอีนของเรามีจำกัด เราจึงควรเสพย์กาแฟให้ได้ประสิทธิภาพ และความสุนทรีย์มากที่สุด ☺️


เพราะ “ประสบการณ์คืองานคราฟท์” 😁

สุขภาพก็เช่นกัน



Disclaimer:

ข้อมูลในเวปไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ ข้อมูลในเวปไซต์ไม่สามารถใช้เพื่อวินิจฉัยโรค หรือรักษาปัญหาทางสุขภาพที่เกิดจากอาการป่วย หากคุณมีอาการป่วย กรุณาติดต่อโรงพยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการรับรองจากแพทย์สภา และกระทรวงสาธารณะสุข

215 views0 comments

Recent Posts

See All

Comments


bottom of page